วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551

กองทัพสำรองผู้ว่างงานและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของระบบทุนนิยม

จากหนังสือ Capital : A Critique of Political Economy, Volume One ของคาร์ล มาร์กซ ในบทที่ 25 เรื่องกฎทั่วไปของการสะสมทุน(The General Law of Capitalist Accumulation) สามารถสรุปเนื้อหาของบทนี้ได้ดังนี้คือ มาร์กซได้แบ่งทุนออกเป็นสองชนิดคือ ทุนคงที่(Constant Capital) ใช้ในการลงทุนในปัจจัยการผลิตต่างๆเช่นวัตถุดิบ เครื่องจักร อุปกรณ์จากผลิตต่างๆ โรงงาน ซึ่งจะไม่สามารถก่อให้เกิดมูลค่าส่วนเพิ่มได้ เป็นเพียงส่วนประกอบในการผลิต และทุนแปรผัน(Variable Capital)ใช้ในการลงทุนจ้างแรงงาน หรืออาจกล่าวได้อีกแบบว่าเป็นการซื้อพลังแรงงานเพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งพลังแรงงานที่ได้จากแรงงานนี้จะเป็นตัวสร้างมูลค่าส่วนเพิ่มและจะช่วยสร้างการสะสมทุนของนายทุนต่อๆไป
ในการผลิตสินค้านั้นจะใช้ปัจจัยทุนทั้งสองอย่างในการผลิตคือทั้งปัจจัยคงที่และปัจจัยแปรผัน ซึ่งมูลค่าของผลผลิตที่ผลิตออกมาได้จะเป็นมูลค่าได้การแลกเปลี่ยนใหม่ โดยที่มูลค่าใหม่นี้จะประกอบไปด้วย มูลค่าทดแทนและมูลค่าส่วนเกิน ดังนั้นการผลิตสินค้าเป็นวัฏจักรต่อไปเรื่อยๆทำให้มีมูลค่าส่วนเกินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นายทุนสามารถสะสมทุนเพิ่มมากขึ้นจากการที่เกิดมูลค่าส่วนเกินนี้ในการผลิตสินค้า แต่ผลตอบแทนที่แรงงานได้รับจากการขายพลังแรงงานของพวกเขาซึ่งก็คือค่าจ้าง นายทุนได้จ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานน้อยกว่ามูลค่าสินค้าที่เขาสามารถผลิตได้นั่นก็คือจ่ายค่าจ้างเท่ากับมูลค่าทดแทนส่วนมูลค่าส่วนเกินนั้นตกไปสู่นายทุน
มากร์ซเชื่อว่าเมื่อมีการสะสมของทุนที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้นายทุนต้องการปัจจัยแรงงานในการผลิตเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นจึงมีการจ้างแรงานงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากองค์ประกอบอินทรีย์ของทุนหรือ organic composition of capital คืออัตราส่วนระหว่างทุนคงที่และทุนแปรผันซึ่งก็คือแรงงานมีลักษณะคงที่(อีกนัยหนึ่งคือเทคโนโลยีในการผลิตมีลักษณะคงที่) เมื่อมีปริมาณความต้องการแรงงานที่เพิ่มมากขึ้นแล้วจึงทำให้ค่าแรงของแรงงานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยทำให้อัตราการการขูดรีดของแรงงานลดลง และอัตรากำไรของนายทุนตกต่ำลง โดยที่อัตราการขูดรีดของแรงงานนั้นเป็นอัตราส่วนระหว่างมูลค่าส่วนเกินของผลผลิตและค่าจ้างของแรงงาน ส่วนอัตรากำไรของนายทุนนั้นเป็นอัตราส่วนระหว่างอัตราการขูดรีดของแรงงานและต้นทุนในหารผลิตซึ่งก็คือต้นทุนจากปัจจัยการผลิตและจากค่าจ้างแรงงาน
ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้อัตรากำไรของนายทุนมีค่าเพิ่มมากขึ้นนายทุนจึงต้องพยายามเพิ่มอัตราการขูดรีดและลดต้นทุนในการผลิตลง เพื่อที่จะไม่ให้อัตรากำไรเฉลี่ยในระยะยาวลดต่ำลง วิธีการที่สามารถทำได้ก็คือการสะสมทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องจักรใหม่ เข้ามาทดแทนการทำงานของแรงงาน หรือช่วยลดจำนวนการใช้แรงงานในการผลิตให้น้อยลง เรียกว่าเทคโนโลยีประหยัดแรงงาน หรือ Labor-saving technology ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการจ่ายค่าจ้างแรงงานให้น้อยลงได้ ทำให้นายทุนที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในการผลิตสามารถทำกำไรในอัตราที่มากกว่านายทุนอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ในสภาวะการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เมื่อนายทุนได้เห็นว่าว่าอัตรากำไรของนายทุนคนอื่นๆ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อประหยัดแรงงานนั้นมีอัตรากำไรที่สูงกว่าตน ทำให้นายทุนในอุตสาหกรรมเดียวกันพยายามลอกเลียนและใช้เทคโนโลยีนั้นเช่นกันเพื่อรักษาระดับอัตรากำไรของตนไม่ให้ลดลง จึงส่งผลให้มีการทดแทนแรงงานในอุตสาหกรรมด้วยเครื่องจักรที่ประหยัดแรงงาน เหมือนกันทุกโรงงาน เมื่อทุกอุตสาหกรรมปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้เกิดแรงงานที่ว่างงานขึ้นเป็นจำนวนมากจากการใช้เทคโนโลยีในการผลิตเข้ามาแทนที่ แรงงานจำนวนมากที่ว่างงานนี้จึงเรียกว่ากองทัพสำรองผู้ว่างงาน
ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาแรงงานส่วนเกิน กลายเป็นกองทัพสำรองผู้ว่างงานขึ้นมา ทำให้นายทุนมีอำนาจในการต่อรองราคาแรงงานมากกว่าแรงงาน เนื่องจากมีแรงงานที่ว่างงานอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ค่าจ้างของแรงงานเพิ่มขึ้นน้อยกว่ามูลค่าส่วนเกินที่นายทุนได้รับ เพราะถ้าหากมีแรงงานเรียกร้องขอค่าจ้างจากนายทุนเพิ่มมากเกินไป นายทุนก็จะเลิกจ้างแรงงานนั้นแล้วไปจ้างแรงงานที่อยู่ในกองทัพสำรองผู้ว่างงาน ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุทำให้แรงงานถูกกดขี่ ขูดรีดจากนายทุน มีสภาพความเป็นอยู่ที่แย่ลง
เพราะฉะนั้นเราอาจสรุปได้ว่าได้ว่ามาร์กซเชื่อว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตของระบบทุนนิยมนั้นเกิดขึ้นเพียงเพื่อใช้ทดแทนการใช้พลังแรงงาน หรือลดอัตราการจ้างานลงนั่นเอง เพื่อเพิ่มอัตราการขูดรีดจากแรงงานและทำให้อัตรากำไรของนายทุนมีค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตจึงเป็นการช่วยขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานโดยนายทุนนั่นเอง
ในปัจจุบันนี้โลกภายใต้ระบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันกันในการผลิตสินค้าและบริการ โดยมีทั้งกลุ่มธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่หรือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ต่างก็มีการแข่งขันกันในการดำเนินธุรกิจอย่างดุเดือด ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อที่จะก่อให้เกิดสินค้าและบริการที่มีราคาถูกและคุณภาพที่ดีเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าคู่แข่ง ดังนั้นประเด็นทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาให้ทดแทนปัจจัยแรง งานเพื่อที่นายจ้างจะสามารถขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานได้เพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดผู้ว่างงานเป็นจำนวนมากนั้นอาจจะไม่สามรถใช้ได้ในปัจจุบันนี้
จากแบบจำลอง Solo Growth Model สามารถอธิบายผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปคือ เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการผลิต จะทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ประสิทธิภาพใจการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมากขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตในปริมาณที่เท่าเดิมหรือมีการใช้ปัจจัยทุนในการผลิตต่อแรงงานที่ลดน้อยลงในการผลิตสินค้าในปริมาณเดิมเมื่อเทียบกับก่อนที่ยังไม่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ดังนั้นจึงทำให้รายได้ต่อหัวของประชาชนเพิ่มมากขึ้น มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น มีการออมหรือการลงทุนที่เพิ่มมาขึ้นเช่นกัน อันเป็นที่มาของการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแบบจำลอง Solo Growth Model นี้แตกต่างจากแนวความคิดของมาร์กซที่เชื่อว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตของระบบทุนนิยมนั้นมีจุดประสงค์เพียงแค่ต้องการลดปริมาณการใช้แรงานของคนงานลง ทำให้นายทุนขูดรีดมูลค่าส่วนเกินเพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดปัญหาผู้ว่างงานเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันเราพบว่าปัญหาการว่างงานไม่ได้เกิดจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยหลายๆอย่างในการก่อให้เกิดการว่างงานขึ้นในระบบเศรษฐกิจอาทิการลงทุนที่ลดน้อยลง การบริโภคของประชาชนที่ลดน้อยลง ปัจจัยต่างๆเหล่านี่ก็มีส่วนให้เกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้นได้มิใช่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว
อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีของระบบทุนนิยมยังก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกของมนุษย์ทำให้มนุษย์ในสังคมปัจจุบันมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิมจากการพัฒนาของเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารคือโทรศัพท์มือถือ แต่เดิมโทรศัพท์มือถือนั้นมีขนาดของเครื่องที่ใหญ่ และมีราคาที่แพงมากอีกด้วย อีกทั้งการรับส่งสัญญาณยังใช้ได้เฉพาะบางจุด ไม่ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศเหมือนในปัจจุบันนี้ ทำให้ไม่เป็นที่นิยมใช้ ต่อมาเมื่อมีการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือ มีการตั้งเสารับส่งสัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศ มีการพัฒนาการผลิตโทรศัพท์มือถือทำให้ขนาดของเครื่องค่อยๆเล็กลงมา มีการพัฒนาหน้าจอโทรศัพท์จากจอขาวดำเป็นจอสี พัฒนาเสียงเรียกเข้าให้เป็นเสียงเพลงเหมือนในปัจจุบัน มีการเพิ่มลูกเล่นต่างๆเข้าไปเช่น สามารถใช้ฟังเพลงได้ใช้เป็นกล้องถ่ายรูปได้ สามารถรับส่งอีเมล์ได้ สามารถเปิดใช้งานอินเตอร์เน็ทจากโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าราคาของโทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ เหล่านี้จะมีราที่แพงเมื่ออกสู่ตลาดในครั้งแรก ต่อมาราคาก็จะค่อยๆลดลงมาตามระยะเวลา ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตรายอื่นนั้นมีการผลิตที่เลียนแบบทำให้ราคาลดลง ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องคิดค้นออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อที่จะให้มีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่สามารถใช้งานได้มากกว่าเดิมเช่นการเพิ่มความละเอียดของกล้องในโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ทความเร็วสูงกว่าเดิม สิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้โทรศัพท์มือถือที่ผลิตออกมสู่ตลาดมีราคาที่สูงขึ้นมากกว่าเดิม จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนั้นจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของตัวสินค้าเองและยังก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆมาเสริมสร้างความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน หาใช่แต่เพียงเพื่อต้องการนำมาทดแทนแรงงานเท่านั้นเพื่อขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานเสมอไปดังความเห็นของมาร์กซ
ในประเด็นที่ว่าการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆจะเป็นการขูดรีดแรงงาน ทำให้คนงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลงนั้น ในสถิติรายได้ต่อหัวของประเทศไทยแยกรายจังหวัดจะพบว่าจงหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมมาก่อตั้งมีการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้นจะมีระดับรายได้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นในภาคเหนือก่อนมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือขึ้นในจังหวัดลำพูนพบว่า รายได้ต่อหัวของประชาชนในจังหวัดลำพูนมีรายได้มากเป็นอันดับสามของภาครองจากเชียงใหม่และลำปาง แต่ภายหลังเมื่อมีนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเกิดขึ้นทำให้รายได้ต่อหัวของจังหวัดลำพูนเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในอันดับที่หนึ่งของภาค อีกทั้งยังมีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก มีการอพยพของแรงงานจากจังหวัดต่างๆในภาคเหนือเข้าไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูนเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่บริเวณรอบๆนิคมอุตสาหกรรมลำพูนกลายเป็นย่านธุรกิจขนาดใหญ่ของลำพูนแทนที่พื้นที่ในตัวเมืองลำพูนเอง มีการเปิดให้บริการของธุรกิจต่างๆ เนื่องจากแรงงานได้รับค่าจ้างที่สูง ทำให้มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจมีปริมาณเงินที่หมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าแนวคิดของมาร์กซเรื่องกองทัพสำรองผู้ว่างงานไม่สามารถใช้ได้กับระบบทุนนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นไม่ได้ใช้เพียงเพื่อนำมาทดแทนการใช้แรงงาน หรือการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน แต่ว่าเทคโนโลยีนั้นจะช่วยในการเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชาชน เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ และยังอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ และปัญหาการขูดรีดส่วนเกินหรือการจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับแรงงานในปัจจุบันที่ทำการผลิตให้แก่นายทุนขนาดใหญ่เนื่องจากมีกฎหมายว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำคุ้มครองอยู่ เพราะการจ้างงานของนายทุนขนาดใหญ่เหล่านี้ถูกดูแลจับตามองอย่างใกล้ชิดทำให้แรงงานมีรายได้ที่ดี มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไม่ยากจนแร้นแค้นดังที่มาร์กซได้กล่าวเอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น: