วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เศรษฐกิจไทยในยุคโลกาภิวัฒน์

ในปัจจุบันนี้เศรษฐกิจโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์อย่างเต็มที่โดยจะเห็นได้จากการที่มีการเพิ่มขึ้นของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก จากการที่มีการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศให้ลดน้อยลงไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราภาษีศุลกากรหรือการยกเลิกมาตรการโควตาการนำเข้าต่างๆตามกฎขององค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ดูแลเรื่องการจัดการการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างเสรีและให้ความเท่าเทียมกันแก่ประเทศสมาชิกทุกประเทศ อีกทั้งเทคโนโลยีในการขนส่งได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ ทำให้สามรถประหยัดเวลาและต้นทุนทั้งในด้านการขนส่งสินค้าและทางด้านการเดินทางระหว่างประเทศ การติดต่อสื่อสารสามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้สามารถรับทราบข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์สำคัญต่างๆที่ได้เกิดขึ้นในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถส่งผ่านข้อมูลต่างๆข้ามพรมแดนประเทศได้อย่างสะดวกใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที ทำให้การเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้ใหม่ๆสามารถทำได้ง่ายมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศน และการสื่อสาร โดยเฉพาะระบบอินเตอร์เน็ทในปัจจุบัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในยุคโลกาภิวัฒน์นี้โลกเสมือนได้ย่อขนาดของตัวเองให้เล็กลงจากการที่มนุษย์สามารถเดินทางหรือติดต่อสื่อสาร รับส่งข้อมูล และทำการค้าระหว่างกันจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้อย่างง่ายดาย
การก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์นั้นเริ่มจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการใช้นโยบายการค้าเสรีของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการนำเอาเครื่องจักรไอน้ำเข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมการทอผ้าและการเปิดเสรีทางการค้าทำให้อังกฤษสามารถนำเข้าวัตถุดิบได้โดยปราศจากภาษีทำให้มีต้นทุนในการผลิตสินค้าที่ต่ำจึงสามารถผลิตสินค้าออกไปจำหน่ายในตลาดโลกได้ในราคาที่ถูกกว่าประเทศอื่น จึงส่งผลให้ประเทศอื่นเริ่มมีการคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆเพื่อช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและส่งเสริมให้การค้าระหว่างประเทศเป็นระบบการค้าเสรีเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างประเทศซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศเลือกที่จะผลิตสินค้าที่ตนเองมีความได้เปรียบเชิงสัมพัทธ์(Comparative Advantage) ตามทฤษฎีของริคาร์โด ซึ่งจะเป็นการช่วยให้มีการผลิตสินค้าในระบบเศรษฐกิจของโลกเพิ่มมากขึ้นจากการที่แต่ละประเทศผลิตสินค้าที่ตนเองมีความถนัด
ภายหลังจากการปฏิวัติอุสาหกรรมทำให้สามารถผลิตสินค้าออกมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและการขนส่งขึ้น เพื่อให้สามรถขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตและประหยัดเวลาในการขนส่งเพื่อหาตลาดในประเทศใหม่ที่อยู่ห่างไกลออกไปในการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น การใช้เรือเดินสมุทรขนส่งสินค้าข้ามทวีป การสร้างทางรถไฟในการขนส่งสินค้า
เมื่อมีความก้าวหน้าทางด้านการขนส่งแล้วจึงมีการพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสาร มีการใช้เทคโนโลยีในในการสื่อสารสมัยใหม่เข้ามาเชื่อมโลกโดยเริ่มจากการใช้การส่งโทรเลข การใช้โทรศัพท์พื้นฐาน และเปลี่ยนมาใช้ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการเข้ามาของระบบอินเตอร์เน็ทที่สามรถเชื่อมโยงข้อมูลในทุกมุมโลกเข้าไว้ได้ด้วยกัน ส่งผลให้การส่งผ่านข้อมูลข่าวสารต่างๆในโลกยุคโลกาภิวัฒน์สามารถทำได้อย่างรวดเร็วแม้ว่าจะอยู่ห่างกันคนละประเทศหรือคนละทวีป
จากการที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในการขนส่งและการสื่อสารและการลดอุปสรรคทางด้านการค้าและการลงทุน ก่อให้เกิดการแข่งขันกันในด้านการผลิตและเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนและปัจจัยในการผลิตได้อย่างเสรี เนื่องจากมีการแข่งขันกันในด้านการผลิตสินค้าดังนั้นจึงต้องมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังแหล่งที่มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ อาทิต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำหรือมีทรัพยากรในการผลิตที่มีปริมาณมาก โดยเป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตอย่างเสรี อีกทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตสามารถทำได้ง่าย ดังนั้นการตั้งบริษัทลูกขึ้นต่างประเทศจึงสามารถทำได้ง่ายและใช้เทคโนโลยีในการผลิตจากบริษัทแม่ได้จากการทีการส่งผ่านข้อมูลสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วจากการส่งผ่านข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตที่จะสามารถแข่งขันได้ในสภาพเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์นี้ได้
ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดโลกยุคโลกาภิวัฒน์ขึ้นมาได้ดังนี้คือ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโดยใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการขนส่งและการสื่อสารส่งผลให้ต้นทุนในการติดต่อสื่อสารและการทำธุรกรรมข้ามประเทศมีต้นทุนที่ลดน้อยลง มีการลดอุปสรรคทางกาค้าระหว่างประเทศลงตามหลักการขององค์การการค้าโลกทั้งอุปสรรคทางด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้นั้นได้เป็นตัวกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกันทั่วทุกมุมโลก
เมื่อโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์แล้วดังนั้นประเทศไทยจึงควรมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ในยุคโลกาภิวัฒน์นี้คือรัฐบาลจะต้องเข้ามาพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำประปา การคมนาคมขนส่ง เพื่อรองรับและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และควรจะลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ว่าจะเป็นทางด้านการให้การศึกษาอย่างทั่วถึง การให้บริการทางสาธารณสุข และการส่งเสริมในด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการผลิต
นอกเหนือจากการที่รัฐบาลนั้นจะต้องให้การสนับสนุนทางด้านการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการลงทุนเพื่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในประเทศแล้วนั้น รัฐบาลควรที่จะมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อรองรับกระแสโลกาภิวัฒน์
มาตรการแปรรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นอาจจะทำได้ดังนี้คือ การเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือการเจราจาเปิดการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยเร่งรัดในการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศลง เป็นการกระตุ้นในเกิดการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกระตุ้นให้มีการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เพื่อที่จะนำไปสู่การแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการขึ้นในประเทศ ทำให้เกิดการคิดค้นและวิวัฒนาการสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในการผลิตใหม่ๆเพื่อเข้ามาช่วยในการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น หรือคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่รัฐตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยปราศจากคู่แข่งทำให้ไม่เกิดการแข่งขันขึ้น ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตและการให้บริการ อีกทั้งยังก่อให้เกิดการผูกขาดขึ้นในตลาด อีกทั้งการที่เป็นองค์กรที่มีรัฐเข้ามาดูแลทำให้การบริหารงานนั้นเชื่องช้า ดังนั้นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจควรจะได้รับการแปรรูปเพื่อให้มีการบริหารงานที่คล่องตัวในรูปแบบเอกชน และเปิดให้มีการแข่งขันโดยให้เอกชนรายอื่นๆได้เข้ามาแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น ยกเลิกระบบการผูกขาดในรูปแบบการให้สัมปทาน ตัวอย่างรัฐวิสาหกิจที่ควรได้รับการแปรรูปของไทยก็คือกิจการรถไฟไทย เนื่องจากรถไฟเป็นการขนส่งทางบกระบบรางที่สามารถขนส่งสินค้าได้ในปริมาณที่มากและใช้เวลาในการขนส่งรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการประหยัดพลังงานในสภาวะที่โลกต้องประสบกับปัญหาราคาน้ำมันแพง แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยนั้นกลับเป็นองค์กรที่ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน มีการดำเนินงานที่ขาดทุนมาตลอด ขาดการพัฒนาองค์กรตัวอย่างเช่นยังใช้ระบบรถไฟรางเดียวมาตั้งแต่เริ่มกิจการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการที่ไม่มีคู่แข่งเข้ามาแข่งขันทำให้ไม่ต้องพัฒนาองค์กรเพื่อแข่งขันกับผู้อื่น อีกทั้งหากมีการขาดทุนองค์กรก็ยังคงอยู่ได้เนื่องจากการที่มีรัฐเข้ามาดูแลให้การสนับสนุน ดังนั้นจึงจะต้องเร่งเข้ามาแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อที่จะสามารถใช้ในการให้บริการด้านการคมนาคมขนส่งระบบรางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
การยกระดับการผลิตภายในประเทศไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น โดยการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีหนาแน่นเช่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีความรู้หนาแน่น เน้นให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการวิจัยเพื่อคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาและใช้ในอุตสาหกรรม และควรมีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาออกมาเพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากหากว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์กันมากจะทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์นั้นจะเสียประโยชน์ส่งผลให้ไม่มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา
การเปิดเสรีทางการเงินก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อตอบรับกระแสโลกาภิวัฒน์เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนภาคเอกชนได้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างหลากหลายทั้งสถาบันการเงินภายในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างสถาบันการเงินในการให้บริการทางการเงินเพิ่มมากขึ้น และเป็นแรงกระตุ้นให้สถาบันการเงินต่างๆเหล่านี้คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆออกมาเพื่อเอานวยความสะดวกทางด้านธุรกรรมทางการเงินอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการผูกขาดในระบบสถาบันการเงินของไทย แต่รัฐบาลหรือธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรที่จะมีมาตรการที่คอยดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด ควบคุมการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงทางการเงินที่สูงมากเกินไปเพื่อป้องกันไม่ใช้เกิดการล้มละลายของสถาบันการเงินอันจะนำไปสู่การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้นมาได้
นอกเหนือไปจากการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของรัฐบาลดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น รัฐบาลควรที่จะมีการปฏิรูปการดำเนินนโยบายการคลังอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายการคลังแบบสมดุล ภาครัฐไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในระบบเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากจะเป็นการเข้าไปแย่งทรัพยากรในการผลิตสินค้าจากภาคเอกชน รัฐมีหน้าที่เพียงการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการออกกฎเกณฑ์ต่างๆในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันอย่างแท้ จริงไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ การปฏิรูประบบภาษีจากปัจจุบันที่มีฐานภาษีที่แคบดังนั้นจึงมีการเก็บภาษีได้จากคนบางกลุ่มเท่านั้นทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง หากมีการขยายฐานภาษีออกไปได้กว้างจะทำให้มีการเก็บภาษีได้มากและลดอัตราการเสียภาษีที่สูงให้น้อยลงได้ เป็นตัวกระตุ้นในเกิดความน่าสนใจในการลงทุนภายในประเทศ
แต่กระแสโลกาภิวัฒน์ย่อมมีผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์ ดังนั้นรัฐก็ควรที่จะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางลบจากกระแสโลกาภิวัตน์นี้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นในการเปิดเขตเสรีการค้ากับประเทศจีน เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมในภาคเหนือได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศจีนได้ ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาใช้มาตรกาให้ความช่วยเหลือเช่น การปรับโครงสร้างการผลิตกระเทียมโดยเปลี่ยนให้เกษตรกรที่ปลูกกระเทียมในพื้นที่ที่ไม่สามารถแข่งขันได้เปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชชนิดอื่นแทนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถปรับตัวแข่งขันได้
ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์แล้วจะทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น เสมือนทำให้เกิดเป็นเพียงตลาดเดียวภายในโลกนี้ เป็นโลกยุคไร้พรมแดน เนื่องจากการผลิต การค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ สามารถทำการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อโลกได้ก้าวเข้าสู่ระบบที่มีตลาดเดียวทำให้เกิดการแข่งขันกันในการผลิตสินค้าและบริการ ลดการผูกขาดลง นำไปสู่สภาวะที่เข้าใกล้ตลาดแข่งขันสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถใช้กฎอุปสงค์อุปทานในการกำหนดราคาสินค้าได้อย่างสมบูรณ์ ลดการได้รับกำไรส่วนเกินจากผู้ผลิตคงเหลือเพียงแต่กำไรตามปกติ ประชาชนผู้บริโภคเป็นผู้ได้รับประโยชน์ เกิดความกินดีอยู่ดีขึ้นภายในสังคมโลก เพราะฉะนั้นแล้วประเทศไทยจึงควรเตรียมพร้อมปฏิรูประบบเศรษฐกิจต้อนระบบกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เพื่อที่จะได้ตักตวงผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัฒน์ของระบบเศรษฐกิจโลก

ไม่มีความคิดเห็น: