วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551

อดัม สมิธ กับการค้าเสรีในโลกปัจจุบัน

แนวความคิดของ อดัม สมิธ ในหนังสือ The Wealth of Nations ตอน “Of restraint upon the importation from foreign countries of such goods as can be produced at home” สามารถสรุปได้ดังนี้คือ อดัม สมิธ เชื่อว่า การกำหนดห้ามนำเข้าสินค้า หรือการตั้งกำแพงภาษีสูงกับสินค้าที่สามารถผลิตได้ในประเทศ เป็นการทำให้เกิด Dead Weight Loss ขึ้นภายในประเทศ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในประเทศนั้นมีต้นทุนสูงกว่าสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ว่าเมื่อเกิดการห้ามนำเข้า หรือการตั้งกำแพงภาษีสินค้าสูง จะทำให้ประชาชนในประเทศต้องซื้อสินค้าที่มีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศหรือสินค้านำเข้าที่ปราศจากการเก็บภาษี เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้นประชาชนก็จะบริโภคน้อยลง ทำให้ส่วนเกินผู้บริโภค(Consumer Surplus) ลดลง แต่ผู้ที่จะได้รับประโยชน์นั้นก็คือผู้ผลิตสินค้าในประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่ต้องปรับตัวในการผลิตเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตอื่นๆจากต่างประเทศเนื่องจากมีการห้ามนำเข้าหรือการตั้งภาษีสินค้าไว้สูงดังนั้น จึงทำให้ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตขึ้นภายในประเทศเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตต่างประเทศ และจะนำไปสู่การผลิตแบบผูกขาดขึ้น
ดังนั้นอดัม สมิธ จึงสนับสนุนให้มีการค้าอย่างแสรี ยกเลิกการห้ามนำเข้าสินค้า และยกเลิกการเก็บภาษี เพราะเห็นว่าการเปิดการค้าเสรีนั้นจะไม่กระทบต่อภาคการผลิตภายในประเทศมากนักโดยยกตัวอย่างการผลิตในภาคการเกษตร
ย้อนกลับมามองรูปแบบการค้าของโลกในปัจจุบันนี้ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาขึ้นมามาก อาทิเช่น ระบบอินเตอร์เน็ท มาช่วยในการติดต่อสื่อสารให้สะดวกขึ้น และช่วยทำให้การทำสัญญาซื้อขายไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางมาเจอกันโดยตรงได้ และการขนส่งมีประสิทธิภาพทำให้มีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสามารถทำได้รวดเร็วกว่าในอดีตมาก จึงทำให้มีการจัดตั้งบรรษัทข้ามชาติ(Multinational corporation) ขึ้นมา
บรรษัทข้ามชาติเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและออกไปลงทุนต่างประเทศด้วย เหตุผลที่การลงทุนในต่างประเทศก็เป็นเพราะว่า จะสามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงไปได้เป็นอย่างมากอาทิเช่นต้นทุนทางด้านแรงงาน ซึ่งรวมไปถึงการที่บริษัทสามารถผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนต่างๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า ในขณะที่ประเทศประเทศหนึ่งนอนหลับอยู่ การผลิตในอีกประเทศก็กำลังดำเนินการตามขั้นตอนอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดอีกทั้งข้อดีของบรรษัทข้ามนั้นจะช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตการประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา
การที่โลกในปัจจุบันนี้มีการค้าที่เปิดเสรีค่อนข้างมาก ทำให้เกิดข้อดีในการค้าเสรีคือ การผลิตสินค้าเป็นการใช้ทรัพยากรการผลิตได้อย่างคุ้มค่าเพราะว่าผู้ที่จะผลิตสินค้าได้ในระบบการค้าเสรีคือผู้ที่มีการใช้ทรัพยากรในการผลิตได้อย่างคุ้มค่ามากทีสุด มีต้นทุนในการผลิตต่ำสุดหรือกล่าวได้อีกแบบหนึ่งว่าเป็นผู้ผลิตที่มีความได้เปรียบเชิงสัมพัทธ์ (Comparative Advantage)
ทฤษฎีความได้เปรียบเชิงสัมพัทธ์(Comparative Advantage) เป็นแนวความคิดของเดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) โดยพัฒนามาจากทฤษฎีความได้เปรียบเชิงสัมบูรณ์ของอดัม สมิธ โดยตามข้อเขียนเดิมของริคาร์โดนั้น เขาได้อธิบายแนวคิดดังกล่าวในรูปของต้นทุนเชิงสัมพัทธ์ (Comparative Cost) กล่าวคือ การค้าระหว่างประเทศ เกิดจากการที่ประเทศคู่ค้าผลิตสินค้าอย่างเดียวกันจำนวนเท่ากันด้วยจำนวนแรงงาน (ต้นทุน) ต่างกัน ภายหลังจอห์น สจ๊วต มิลล์ ได้เปลี่ยนวิธีการวิเคราะห์จากต้นทุนเชิงสัมพัทธ์มาเป็น การได้เปรียบเชิงสัมพัทธ์ (Comparative Advantage) ซึ่งก็คือ ผลผลิตเชิงสัมพัทธ์ นั่นเอง นั่นคือการที่ใช้ต้นทุนในการผลิตเท่ากันแต่ผลผลิตที่ผลิตได้นั้นต่างกัน ดังนั้นข้อสรุปของทฤษฎีนี้คือ ประเทศที่มีความได้เปรียบสัมพัทธ์ในการผลิตสินค้าในสินค้าหนึ่งก็ควรที่จะผลิตสินค้านั้นที่ตนเองมีความได้เปรียบเชิงสัมพัทธ์ และเลิกการผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่มีความได้เปรียบเชิงสัมพัทธ์ และนำสินค้าที่ตนเองผลิตได้นั้นนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าจากต่างประเทศ ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการค้าระหว่างระหว่างประเทศจะทำให้เกิดเทคโนโลยีในการผลิตใหม่ขึ้นมาใช้ในการผลิต เพื่อความอยู่รอดของผู้ผลิตเองที่จะสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นได้ภายใต้ระบบการค้าเสรี ทำให้เป็นการเพิ่มปริมาณผลผลิตขึ้นจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพและจากการที่ผู้ผลิตผลิตสินค้าที่ตนเองมีความได้เปรียบสัมพัทธ์ อีกทั้งการค้าเสรีโดยไม่มีการเข้ามาแทรกแซงจากรัฐบาล อาทิเช่น การเก็บภาษีสินค้านำเข้าและส่งออก หรือการห้ามนำเข้า จะเป็นการทำให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยจะสามารถแสดงให้เห็นปริมาณความต้องการซื้อ ความต้องการขาย และราคาที่แท้จริงได้
ตัวอย่างบรรษัทข้ามชาติที่อยากจะยกตัวอย่างมา ณ ที่นี้คือ กรณีของเทสโก้โลตัส ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติทางด้านธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากประเทศอังกฤษ และกำลังรุกขยายสาขาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ถึงแม้ว่าจะโดนต่อต้านอย่างมากจากลุ่มธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นของไทย ที่ออกมาคัดค้านการขยายสาขาจากห้างค้าปลีกนี้ แต่ถ้ามองมุมของผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคย่อมเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการเข้ามาของเทสโก้โลตัส เพราะสามารถซื้อของอุปโภคบริโภคในราคาที่ถูกลง เนื่องจากการที่เทสโก้โลตัสเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถเจรจาลดต้นทุนสินค้าที่นำมาจำหน่ายในห้างจากผู้ผลิตได้อีกทั้งยังมีระบบบริหารจัดการในการจัดส่งสินค้าที่ดี สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นส่วนที่ช่วยให้สามารถลดต้นทุนของสินค้าลงได้ ดังนั้นจึงสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้ในราคาที่ถูก ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยควรจะปรับตัวในการดำเนินธุรกิจเช่น ผู้ค้ารายย่อยควรจะมีการวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งให้เป็นเครือข่ายเดียวกันเพื่อที่จะมีอำนาจต่อรองราคาสินค้ากับผู้ผลิตที่จะเป็นการช่วยลดต้นทุนทางด้านราคาของสินค้าในการจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคต่อไป การปรับสภาพภายในของร้านค้าให้สะอาด ดูดีน่าเข้ามาใช้บริการ มิใช่แต่จะคอยคัดค้านการขยายสาขาดังที่เป็นข่าวในปัจจุบัน ดังนั้นหากผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยสามารถปรับปรุงการบริการและระบบการจัดการเพื่อให้มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ลดลงได้ก็จะสามารถอยู่ในการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกนี้ได้ จะเห็นได้ว่าการเข้ามาดำเนินธุรกิจของเทสโก้โลตัสนั้นมีข้อดีอยู่หลายประการ เช่น ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง เพิ่มการจ้างงานภายในประเทศ แต่ควรมีการออกกฎเกณฑ์ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด มีกติกาที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้บรรษัทข้ามชาติเหล่านั้นเอาเปรียบผู้ผลิตเช่น การกดราคาสินค้าจากผู้ผลิตมากเกินไป หรือการเอาเปรียบแรงงานเช่นมีการจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม และกฎเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้จะต้องใช้หลักเกณฑ์ในการควบคุมดูแลการดำเนินธุรกิจการค้าปลีกทั้งผู้ประกอบการในประเทศหรือกลุ่มทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
แต่ปัญหาในการเปิดการค้าเสรีนั้นก็คือ ยังมีการกีดกันทางการค้ากันอยู่ทั้งการกีดกันที่เป็นภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ประเทศของตนเองได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่นกรณีกุ้งกับเต่า ที่ไทยมีกรณีพิพาทกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งห้ามนำเข้ากุ้งไทยโดยใช้เรื่องการอนุรักษ์เต่าเป็นข้ออ้างและประเทศต่างๆรวมทั้งไทยจะสามารถส่งออกกุ้งมายังสหรัฐอเมริกาได้ก็ต่อเมื่อมีการติดตั้งเครื่องมือแยกเต่าทะเล(Turtle Excluder Devices : TEDs) เพื่อเป็นการปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยเห็นว่าการใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาเป็นการกีดกันทางการค้าซึ่งขัดกับหลักเกณฑ์การค้าเสรีที่ได้บัญญัติไว้ในข้อตกลงGATT ดังนั้นจึงมีการยื่นกรณีพิพาทดังกล่าวให้แก่องค์การการค้าโลกในการช่วยตัดสินกรณีพิพาทระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาโดยมีประเทศที่ร่วมกับไทยในการฟ้องสหรัฐอเมริกาก็คือมาเลเซีย อินเดีย และปากีสถาน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะฉะนั้นการจัดตั้งองค์การค้าระหว่างประเทศก็เพื่อที่จะดูแลช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเสรีมากที่สุด
องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นองค์การนานาชาติ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางด้านการค้าระหว่างชาติ เป็นเวทีสำหรับการเจรจาต่อรอง ตกลงและขจัดข้อขัดแย้งในเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ทางการค้าและการบริการระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งเนื้อหาสาระความตกลงต่างๆ ภายใต้องค์การการค้าโลกจะอยู่ในหนังสือ กรรมสารสุดท้ายรวบรวมผลการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย(Final Act : Embodying the Results of the Uruguay Round of Multilateral Trade Negotiations) ซึ่งจะมีหลักการสำคัญในการกำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศคือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักความโปร่งใส หลักการในการใช้เหตุผลในการควบคุมการนำเข้าและส่งออก ข้อจำกัดเพื่อปกป้องดุลการชำระเงิน มาตรการฉุกเฉิน หลักการในการผูกพันภาระภาษี และหลักการในการระงับข้อพิพาท โดยหลักการต่างๆเหล่านี้จัดตั้งไว้เพื่อเป็นกฎระเบียบและข้อบังคับเพื่อให้การค้าของโลกเข้าใกล้ระบบการค้าอย่างเสรีให้มากขึ้นจากการให้ลดภาษีศุลกากร หรือการยกเลิกมาตรการกีดกันอื่นๆที่มิใช่ภาษี และเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างเป็นธรรม ไม่ให้ประเทศใหญ่ได้เอาเปรียบประเทศเล็กได้ถ้าหากมีข้อพิพาททางการค้า ซึ่งจะมีหน่วยงานขึ้นมาดูแลในการระงับหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือการลงเสียงในการออกมติก็เป็นการลงคะแนนโดยทุกประเทศจะมีหนึ่งคะแนนเสียงเท่าเทียมกันไม่ว่าประเทศนั้นจะเป็นประเทศใหญ่หรือเป็นประเทศเล็กก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันภายใต้การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก
ทางด้านการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี ซึ่งส่วนใหญ่นั้นก็คือพวกผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถปรับตัวเพื่อลดต้นทุนในการผลิตทำให้ไม่สามารถทำการแข่งขันในตลาดโลกได้ รัฐบาลควรที่จะเข้ามาดูแลการเปิดการค้าเสรีซึ่งควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากหมวดการผลิตที่เรามีความได้เปรียบก่อน และค่อยเปิดการค้าเสรีในหมวดที่เราไม่สามารถแข่งขันได้โดยค่อยๆลดภาษีศุลกากรลงหรือค่อยๆขยายปริมาณโควตาให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะให้ผู้ผลิตในประเทศได้มีเวลาปรับตัวในการผลิต หรือให้โอกาสผู้ผลิตได้เปลี่ยนไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ หรือให้การสนับสนุนในการให้คำแนะนำการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้เพื่อทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง การที่ออกกฎหมายเพื่อให้มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นว่าต้องเป็นคนในประเทศเท่าไหร่ การกำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีการดูแลสภาพแวดล้อมที่ได้รับความเสียหายจากการผลิตสินค้านั้นๆ เพื่อไม่ให้นายทุนผู้ผลิตทั้งบรรษัทข้ามชาติและทุนท้องถิ่นในประเทศเอากำไรส่วนเกินจากตรงนี้ไปได้มากนัก ควรจะมีผลประโยชน์คืนแก่สังคมโดยรวมบ้าง
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าแนวความคิดของอดัม สมิธ ที่สนับสนุนให้มีการค้าอย่างเสรีได้รับการสนับสนุน และสามารถนำมาใช้ได้จริงในยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเต็มไปด้วยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ แต่เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการเอาเปรียบซึ่งกันและกันระหว่างประเทศ หรือว่าจากบรรษัทข้ามชาติ หรือการได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า จึงมีการตั้งองค์กร หรือจัดตั้งกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆขึ้น ซึ่งกฎเกณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นไม่ใช้เพื่อเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้า แต่เพื่อทำให้การเปิดเสรีทางการณ์ค้าระหว่างประเทศเป็นธรรมแก่ทุกๆฝ่าย เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมให้ได้มากที่สุด